|
|
|
|
International Engine of the Year 2007 : บีเอ็มฯซิวคนเดียว 7 รางวัล
เป็นประจำทุกเดือนพฤษภาคมของทุกปีที่บรรดาวิศวกรเครื่องยนต์ของแต่ละบริษัทรถยนต์จะได้เฮฮาและออกมาพบปะกับผู้คน เพราะในช่วงนี้เป็นการจัดงานแจกรางวัล International Engine of the Year 2007 หรือเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งเป็นเวทีเดียวของการมอบรางวัลให้กับเครื่องยนต์ เพื่อให้กำลังใจกับวิศวกรเครื่องยนต์ที่ทำงานแบบปิดทองหลังพระ
งานนี้จัดขึ้นโดย UKIP Media&Events ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังสือทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับรถยนต์รายใหญ่ในเกาะอังกฤษ และได้เชิญสื่อมวลชนจำนวน 62 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้ามา ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และมีการแจกรางวัลทั้งหมด 12 สาขา
โดยที่รางวัลใหญ่จะอยู่ที่ เครื่องยนต์หน้าใหม่ยอดเยี่ยม หรือ Best New Engine of the Year, เครื่องยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม Best Performance Engine, เครื่องยนต์ยอดประหยัดน้ำมัน Best Fuel Economy และเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 หรือ International Engine of the Year 2007
สำหรับเกณฑ์การตัดสิน คือ ในแต่ละสาขาเครื่องยนต์ กรรมการแต่ละคนจะมี 25 คะแนนเพื่อเฉลี่ยให้กับเครื่องยนต์ 5 อันดับแรกที่ถูกใจ และเพื่อเป็นการป้องกันการเทคะแนน จะมีการกำหนดให้กรรมการแต่ละคนสามารถให้คะแนนสูงสุดกับเครื่องยนต์บล็อกใดบล็อกหนึ่งไม่เกิน 15 คะแนน และทุกบล็อกที่ถูกเลือกติดอยู่ 5 อันดับแรกจะต้องมีคะแนนให้ จะมากหรือน้อยก็ได้ (สูงสุด 15 คะแนน ต่ำสุด 1 คะแนน) แต่ห้ามให้คะแนนเท่ากัน
คงต้องบอกว่าเป็นอีกปีทองของบีเอ็มดับเบิลยูสำหรับการแจกรางวัลในปีนี้ เพราะจาก 12 รางวัล ค่ายใบพัดสีฟ้ากวาดมาครองได้ถึง 7 รางวัล แถมยังมี 3 รางวัลที่เป็นสาขาสำคัญ คือ เครื่องยนต์หน้า ใหม่ยอดเยี่ยม, เครื่องยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม และเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 ส่วนอีก 4 รางวัลเป็นการคว้าในกลุ่มของสาขาย่อย
แน่นอนว่าเครื่องยนต์ที่เชิดหน้าชูตาให้กับบีเอ็มดับเบิลยูมากที่สุดสำหรับปีนี้คือ เครื่องยนต์ เบนซิน 6 สูบเรียง ทวินแคม 24 วาล์ว 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่ที่เปิดตัวครั้งแรกกับซีรีส์ 3 คูเป้รุ่น 335i โดยคว้ารางวัลมาได้ทั้งหมด 3 ตัว
คณะกรรมการต่างให้ความเห็นและชื่นชมถึงการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นนี้ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้ตัวเครื่องยนต์ 6 สูบเรียงมีน้ำหนักเบา และการเลือกใช้เทอร์โบขนาดเล็ก 2 ลูกในการอัดอากาศ เข้าสู่กระบอกสูบแทนที่จะเลือกใช้ลูกใหญ่เพียงใบเดียวนั้น ทำให้สามารถขจัดปัญหาการรอรอบ หรือ Turbo Lag ได้
ผลที่ได้คือ เครื่องยนต์บล็อกนี้มีกำลังสูงสุดเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ 8 สูบ ด้วยแรงม้าสูงสุด 302 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.7 กก.-ม. ที่รอบต่ำเพียง 1,300 ไล่ไปจนถึงระดับ 5,000 รอบ/นาที ขณะที่สมรรถนะในการขับเคลื่อน ทันใจด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 5.5 วินาที
นี่คือ จุดเด่นของเครื่องยนต์บล็อกนี้ที่เข้าตากรรรมการจนได้รับโหวตให้เป็นเครื่องยนต์ยอด เยี่ยมแห่งปี และถ้าพิจารณาจากคะแนนที่ได้รับในแต่ละสาขาที่เครื่องยนต์ 6 สูบรุ่นนี้คว้ารางวัลมาครอง จะพบว่าทิ้งอันดับที่ 2 แบบเป็นทุ่งเหมือนกัน
อย่างในสาขาเครื่องยนต์หน้าใหม่ยอดเยี่ยม ได้รับคะแนนทิ้งเครื่องยนต์ไฮบริดของเล็กซัส แอลเอส600เอชไปแบบไม่เห็นฝุ่นด้วยคะแนน 446 ต่อ 183 คะแนน หรือในสาขาเครื่องยนต์ยอด เยี่ยมรุ่น 2,500-3,000 ซีซี ก็เบียดเอาชนะเพื่อนร่วมค่ายที่เป็นแชมป์เก่าในสาขานี้อย่างขุมพลังเทอร์โบดีเซล 6 สูบ 3,000 ซีซีไปได้ด้วยสกอร์ 383 ต่อ 254 คะแนน
และในรางวัลใหญ่อย่างเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี ก็เอาชนะเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี ทวินชาร์จเจอร์ของค่ายโฟล์คสวาเกนไปได้ (395 ต่อ 259 คะแนน) และทำให้บีเอ็มดับเบิลยูคว้ารางวัลในสาขานี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการหักอกเครื่องยนต์บล็อกนี้ของโฟล์คสวาเกนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากในปีที่แล้วเครื่องยนต์วี10 5,000 ซีซีของเอ็ม5/เอ็ม6 เคยสร้างความเจ็บช้ำมาแล้ว
ความสำเร็จยังไม่หมดแค่นี้
ชัยชนะของบีเอ็มดับเบิลยูที่มีต่อเวทีการแจกรางวัลในปีนี้ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะบรรดาเครื่อง ยนต์รุ่นต่างๆ ก็ช่วยกันโกยคะแนนจากคณะกรรมการจนคว้ามาได้อีก 4 รางวัล และที่ยังแรงไม่ตก แม้ว่าจะเปิดตัวมาหลายปีแล้วอย่างเครื่องยนต์วี10 5,000 ซีซี 507 แรงม้าที่ประจำการอยู่ใต้ฝากระโปรงของ เอ็ม5/เอ็ม6 ก็คว้ามาเพิ่มได้อีก 2 รางวัล คือ เครื่องยนต์สมรรถนะยอดเยี่ยม และเครื่องยนต์ยอด เยี่ยมรุ่นสูงกว่า 4,000 ซีซี โดยที่ยังไม่มีเครื่องยนต์บล็อกไหนมาโค่นความสำเร็จลงได้
และก็อีกแล้วที่เครื่องยนต์วี10 ของบีเอ็มดับเบิลยูทำให้เฟอร์รารี่ต้องผิดหวังในทั้ง 2 สาขา เพราะคณะกรรมการยังเทคะแนนให้จนหมดใจแทนที่จะเลือกของที่ใหม่สดกว่าอย่างขุมพลังวี12 ทวินแคม 6,000 ซีซีของเฟอร์รารี่ 599 จีทีบี
สำหรับอีก 2 รางวัลที่เหลือของบีเอ็มดับเบิลยู มาจากสาขาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่น 2,000-2,500 ซีซีที่มาจากขุมพลังเบนซิน 6 สูบเรียง 2,500 ซีซี 218 แรงม้าที่วางอยู่ใน 325i, 525i, X3 และ Z4 โดยเป็นการพลิกกลับมาคว้าชัยอีกครั้งหลังจากปีที่แล้วพลาดท่าให้กับเครื่องยนต์ 4 สูบนอน บ็อก เซอร์ 2,500 ซีซี เทอร์โบของซูบารุ
ส่วนอีกรางวัลจะเรียกว่าเป็นความสำเร็จแบบ 100% ของบีเอ็มดับเบิลยูก็คงไม่ถูก เพราะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 4 สูบ 1,600 ซีซีที่วางอยู่ในมินิ คูเปอร์ เอสใหม่ซึ่งคว้ารางวัลในสาขา เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่น 1,400-1,800 ซีซี
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเครื่องยนต์ 175 แรงม้าบล็อกนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างบีเอ็มดับเบิลยูกับกลุ่มพีเอสเอแห่งฝรั่งเศส โดยนอกจากมินิ คูเปอร์ เอสแล้ว รถยนต์อีกรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ รุ่นนี้คือ เปอโยต์ 207 GTiแบ่งๆ กันไป อีก 5 รางวัลที่เหลือของการแจกรางวัลในปีนี้ ก็แบ่งๆ กันไปตามแต่ละค่าย โดยที่โฟล์คสวาเกน และโตโยต้าคว้ากันไปได้ฝ่ายละ 2 รางวัล และอีกที่เหลืออีกหนึ่งตกเป็นของพอร์ช
2 รางวัลของโตโยต้า คือ เครื่องยนต์ยอดประหยัดน้ำมัน และเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่นต่ำกว่า 1,000 ซีซี ซึ่งรางวัลแรกมอบให้กับขุมพลังไฮบริด Hybrid Synergy Drive แบบ 4 สูบ 1,500 ซีซีของพริอุส ส่วนอันหลังตกเป็นของเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1,000 ซีซีที่วางอยู่ในรุ่นอายโก้/ยาริส รวมถึงรถยนต์ร่วมสายพันธุ์อย่างเปอโยต์ 107 และซีตรอง ซี1
จะว่าไปแล้ว 2 สาขานี้เคยตกเป็นของฮอนด้ามาโดยตลอดกับเครื่องยนต์สุดไฮเทคแบบ IMA 3 สูบ 1,000 ซีซี เทอร์โบ VTEC ที่จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าและวางอยู่ในรถยนต์รุ่นอินไซท์ แต่นับจาก ฮอนด้าเลิกผลิตอินไซท์ไป ทั้ง 2 รางวัลนี้ก็เปิดกว้าง และถูกความประหยัดของโตโยต้าเข้ามาแทนที่
ทางด้านโฟล์คสวาเกนกับ 2 รางวัลที่ได้มาจากเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี ทวินชาร์จเจอร์ ที่คว้ารางวัลในสาขาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่น 1,000-1,400 ซีซี ซึ่งคณะกรรมการชื่นชมเครื่องยนต์บล็อกนี้อย่างมาก โดยเฉพาะจุดเด่นในเรื่องการสร้างแรงม้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มความจุกระบอกสูบ แต่หันไปใช้ระบบอัดอากาศแทน จนสามารถผลิตม้าออกมาได้ 170 ตัวและแรงบิดสูงสุด 24.4 กก.-ม. ที่ 1,750 รอบ/นาที พร้อมกับมีอัตราส่วนแรงม้าต่อ ความจุในระดับ 119 แรงม้า/ลิตร และการคว้ารางวัลในสาขานี้ ก็ได้รับการเทคะแนนชนิดทิ้งอันดับ 2 อย่างเครื่องยนต์ IMA 4 สูบ 1,500 ซีซีของซีวิค ไฮบริดไปกว่า 200 คะแนนเลยทีเดียว
ส่วนอีกรางวัลก็เป็นการป้องกันแชมป์ในสาขาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่น 1,800-2,000 ซีซี ซึ่ง เครื่องยนต์เบนซินแบบไดเร็กต์อินเจ็กชัน หรือ FSI 4 สูบ 2,000 ซีซี ที่วางอยู่ในรถยนต์หลากรุ่น ในเครือโฟล์คสวาเกนตั้งแต่รุ่นประหยัดอย่างเซียท ลีอองไปจนถึงระดับหรูอย่างออดี้ เอ6 ได้รับการเทคะแนนทิ้งห่างเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 2,000 ซีซีไปแบบไม่เห็นฝุ่น
ปิดท้ายรางวัลในสาขาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมรุ่น 3,000-4,000 ซีซี ตกเป็นของเครื่องยนต์ 6 สูบนอน 3,600 ซีซี เทอร์โบของพอร์ช 911 เทอร์โบ ที่สามารถเบียดเครื่องยนต์ 6 สูบ 3,200 ซีซีของ บีเอ็มดับเบิลยูที่วางอยู่ในเวอร์ชัน M ของแซด4 (และในอดีตเคยวางอยู่ในเอ็ม3 รุ่นที่แล้ว) ไปแบบ เฉียดฉิวห่างกันแค่ 4 คะแนนเท่านั้นเอง
|
|
|
|
|
|
|
|